Moka Pot – Stove Top Espresso Maker – ทำกาแฟสด เอสเปรสโซ่ ง่ายๆ ที่บ้านคุณด้วย หม้อม๊อคก้าพ๊อท

วันนี้สำหรับคอกาแฟแนวเข้มข้นครับ ผมตัดสินใจรีวิวสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวที่อาจจะมีประโยชน์กับใครบางคน โดยในวันนี้คือ การทำกาแฟเอสเปรสโซ่แบบง่ายๆ ไม่แพงครับ และเนื่องจากหม้อต้มใบนี้ใกล้ถึงวาระอายุไขมันแล้วจึงรีวิว เพื่อเตรียมรับการรีวิวกับหม้อใบใหม่ของผมในเร็ววันนี้.

หลายคนที่เป็นคอกาแฟสด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบชนิด Espresso ที่ตามร้านเกือบทั้งหมดจะใช้เครื่องทำการแฟสดชนิดอัดความดัน (ไม่ใช่เครื่องที่ใช้ระบบกรองน้ำหยด) ซึ่ง ราคาแบบเครื่องเอสเปรสโซ่ที่พอใช้ได้เริ่มจาก ห้าหกพันถึงหมื่นกว่าบาท สำหรับใช้ในบ้าน และสูงไปจนถึงหลักแสนที่ใช้ตามร้านกาแฟมีระดับ และบางคนอาจจะนำหลักแสนมาใช้ในบ้าน นั่นก็ขึ้นกับเรื่องส่วนบุคคลล้วนๆ.

ทีนี้สำหรับคนที่จะทานกาแฟจากบ้านเพียงถ้วยเดียวต่อวัน น่าจะมีอะไรที่เหมาะสมกว่าซื้อเครื่อง เพราะจากประสพการณ์ที่เคยมีเครื่อง espresso machine อยู่ที่บ้าน 1 เครื่อง, มันต้องการการดูแลรักษามากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆครับ เราต้องวอร์มเครื่องก่อนใช้ เราต้องทำความสะอาดภายในภายนอกหลังใช้ทุกๆครั้งเพื่อยืดอายุ และซีลยางต่างๆที่มีอายุจำกัด หาอะหลั่ยอาจจะยุ่งยากสำหรับบางรุ่น ต้องหาอะหลั่ยเทียบอะไรแบบนั้น.

เราเป็นแค่คนชอบทานกาแฟครับ บางทีบางสิ่งบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดละออมากๆก็ได้ครับ, หลายปีก่อนผมได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้หม้อต้มกาแฟที่เรียกว่า Moka Pot ครับ (บางคนเรียก หม้อ บางคนเรียก กา), อย่าเข้าใจผิดคิดว่ามันชื่อเดียวกับ กาแฟม๊อคค่า (mocha หรือ กาแฟกลิ่นช๊อคโกแล๊ต) นะครับ, และหลายคนก็มักจะสะกดผิดเป็น Mokka, Muka, Mocca, มุ๊คค่า, โมคค่า, โมค่า, โมก้า อีกด้วยครับ.

โดยต้นตำหรับในการคิดค้นหม้อนี้มาจาก เจ้าของยี่ห้อ Bialetti ประเทศ อิตาลี่ ครับซึ่งยังคงคุณภาพมาจนทุกวันนี้ อันนี้ต้องขอให้เครดิตไว้ด้วยครับ, ในปัจจุบันมีหม้อต้มชนิดนี้มากมายหลากหลายยี่ห้อ. หมายคนอาจจะเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่ามันเอาไว้ทำอะไร หรือ หลายคนว่ามันจะทำกาแฟรสชาติเลิศได้อย่างไรหม้อแบบนี้ ผมขอตอบว่าคิดผิดครับ


ในวันนี้ผมจะรีวิวใบเก่าๆไม่มียี่ห้อของผมที่ใช้มาประมาณกว่า 4 ปี, โดยใช้ทุกวันครับ คิดง่ายก็คงใช้ต้มกาแฟมาแล้วไม่ต่ำว่า 1,200-1400 ครั้ง หรือราวๆ 2,000 ถ้วย (ชงได้ทีละสองถ้วยคนไทย แต่ส่วนใหญ่ชงถ้วยเดียว).
ริ้วรอยต่างๆที่จะได้เห็นในภาพมันคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะมันเป็น อลูมิเนียม ใช้ทุกๆวัน แล้วก็ล้างทุกๆวันบางทีก็ฟองน้ำบางทีก็โดนสก๊อตไบรท์ คือไม่ต้องคอยถนุถนอมครับ คราบผงกาแฟมันจะไปเกาะสะสมตามผิวร่องลึกของอลูมิเนียม จะเอาออกได้คงต้องใช้กระดาษทรายเท่านั้น


ตัวหม้อมีเพียง สามส่วนครับ คือ หม้อต้ม, กรวยกรองใส่กาแฟบด และ กา


หลักการทำงาน ของ Moka Pot เป็นแนวคิดทางวิศวกรรม ที่เยี่ยมยอดมาก ที่สามารถสร้างหม้อต้มที่มีอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น

คือใช้แรงดันอัดน้ำร้อนใส่กาแฟแล้วออกมาเป็นน้ำกาแฟครับ ซึ่งก็หลักการเดียวกับ เอสเปรสโซ่
จากภาพ เราใส่น้ำเย็นลงที่ A, ใส่ผงกาแฟที่ B แล้วก็ต้มน้ำ เมื่อน้ำร้อนกลายเป็นไอน้ำที่ร้อนเกือบๆเดือด หรือเดือดเลย น้ำจะขยายตัวร่วมกับไอน้ำด้านบนทำให้เกิความดันส่งให้น้ำร้อนที่ยังไม่เป็นไอถูกดันขึ้นไปตามท่อ แทรกซึมผ่านผงกาแฟ แล้วพุ่งขึ้นไปต่อ ก็จะได้น้ำกาแฟ ขึ้นไปสู่ด้านบนตรงตำแหน่ง C, ซึ่งก็เป็นน้ำกาแฟร้อนๆพร้อมเสริฟท์


ตัวหม้อต้ม จะมีวาวล์ลูกเหล็กทองเหลืองครับ หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติที่ทำให้แรงดันในหม้อต้มสูงเกินไป วาวล์จะเปิดเพื่อลดความดัน
หม้อก็จะไม่มีโอกาสระเบิดเพราะความดันได้ แต่โดยส่วยตัวแล้ววาวล์คงไม่มีโอกาสเปิดแน่ๆถ้าไม่เอาแผ่นเหล็กไปอุดรูท่อน้ำเอาไว้
คราบที่เห็นเป็นพวกตระกรันครับ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ล้าง (อายเหมือนกันนะเนี่ย ต้องรีบออกตัวกลัวเข้าใจผิด)


ด้านใต้กาน้ำส่วนบน จะมีเหล็กฉลุรูกรองเศษกาแฟที่อาจจะผ่านขึ้นไปได้,
รอบๆจะเป็นซิลิโคนยางทนความร้อนและช่วยซีลหม้อต้ม เวลาต้มน้ำจะได้ไม่รั่วตามขอบ


มาถึงวัตถุดิบครับ ในภาพคือกาแฟรสชาติโปรดในตอนนี้ของผม จะมี Arabica สองยี่ห้อ ผสมกัน 50:50
ที่ตัดและกดกาแฟ (Tamper) ซึ่งมาจากเครื่อง espresso เก่าของผม และ แผ่นกรองผงกาแฟกระดาษชนิดกลม


ผมเติมน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง ประมาณต่ำกว่าวาวล์นิดหน่อย, พอดีวาวล์คือระดับน้ำสูงสุดที่หม้อรับได้
หม้อใบนี้เป็น ขนาด 6 Espresso Cups (300ml) ครับ, ซึ่ง เต็มที่ได้ ประมาณ 2 ถ้วยการแฟคนไทย ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงถ้วยกาแฟสีแดงสี่เหลี่ยมๆของกาแฟยี่ห้อหนึ่ง


สำหรับทำทานแก้วเดียว ผมเติมผงกาแฟเข้าไป 2 ช้อนครับ จะได้ประมาณครึ่งหนึงของตัวรองกาแฟ
ไม่ต้องกดอัดผงกาแฟนะครับเพราะไม่ใช่เครื่อง esspresso ที่ใช้หม้อลูกสูบอัดน้ำใส่, ในรูปผมเพียงแค่ตบๆให้มันเรียบเฉยๆเพื่อจะได้วางกระดาษกรองได้

จริงๆแล้วทำแก้วเดียวควรใช้ใบที่ขนาดเล็กกว่านี้ เพราะหน้ากว้างของฐานรองกาแฟมันจะพอดีๆกัน รสชาติ และความเข้มข้นจะพอดีกว่า


ใส่แผ่นกรองครับ, ซึ่งแผ่นนี้จริงๆแล้วไม่ต้องใช้ก็ได้ครับ แต่ผมใช้เพราะผมใช้กาแฟแบบบดละเอียดมาก มันก็จะมีผงกาแฟปนเข้ามาในน้ำมากหน่อย เลยซื้อมาใช้ครับเพื่อลดผงกาแฟ ซึ่งก็ได้ผลดีมากครับ
ก่อนหมุนกาก็ทำการปัดเศษกาแฟตรงขอบทิ้งให้หมดครับ เวลาประกอบแล้วต้มน้ำร้อนจะได้ไม่รั่วออกมา

ต้มครับ ใช้ไฟอ่อนที่สุด ซึ่งรวมเวลาทั้งหมดจะใช้ประมาณ 3 – 4 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ
ไม่ควรใช้น้ำร้อนนะครับ เพราะหม้อต้มแบบนี้ ควรต้องต้มน้ำตั้งแต่อุณหภูมิห้องครับเพื่อให้ไอน้ำบางส่วนมันจะค่อยๆนำความร้อนไปหล่อที่ถาดผงกาแฟ

ผ่านไปนาทีครึ่งกาแฟเริ่มไหลเบาๆขึ้นมาที่กาด้านบน จริงๆไม่ควรเปิดฝานะครับ ความร้อนจะได้ระอุๆอยู่ในท่อ
และมันจะได้ไม่พุ่งกระเด็นออกนอกกาด้วย


หัวเตาอินฟาเรต เริ่มร้อนแดง เต็มที่


ประมาณ 2:30 นาทีเริ่มพุ่งแรง


3:20 นาทีเริ่มเบาลงแต่จะเน้นฟองอย่างเดียวละ ซึ่งดูจากฟองแล้วมันเข้มข้นกว่าที่ออกมาตอนแรก
ดังนั้นเพื่อความเข้มข้นเราจะต้องอดทนรอให้ถึงฟองชุดสุดท้ายนี้หมดก่อนครับ


ไม่นานนักก็หยุด แล้วจากนั้นก็จะมีแต่ไอน้ำออกมาจากกา กลิ่นหอมหวลจรุงไปทั่วห้องครัวและพื้นที่รอบๆ
เมื่อเราเห็นไอน้ำจากปากกาเมื่อไหร่แสดงว่าเสร็จแล้วครับ ควรจะต้องรีบปิดเตา เพราะหากลืมทิ้งไว้ ขณะน้ำในหม้อแห้ง
ความร้อนของตัวหม้อจะสูงขึ้นมาก ส่งไปถึง พวกซีลยาง มือจับจะเสียหายได้ครับ

ได้ประมาณ 1 ถ้วยเต็มๆครับ เข้มข้น, ที่เห็นในภาพผมใช้ถ้วยประจำคือมันจะทึบๆ น้ำกาแฟที่เห็นจึงดูดำเกินไป แต่จริงๆแล้วมันสีสวยกว่านี้ครับ ถ้าผมใช้แก้วใส.

ผมขอเวลาดื่มด่ำกับกาแฟหอมแก้วแรกในตอนเช้าสักครู่นะครับ

.
.
.
.

.

.

.

.

.

.

.

.

.
.

ดื่มหมดแล้ว ผมจึงถ่ายให้เห็น ผงกาแฟที่หลงออกมาได้เล็กน้อย แม้ใช้กรองกระดาษ, ถ้าไม่ใช้กรองเลย หม้อใบนี้เศษผงจะเยอะกว่านี้มากครับ. ถ้าถามว่าทำไมไม่เทจากกาแบบเหลือก้นกาเอาไว้หน่อย ผงจะได้อยู่ในกา, ขอตอบว่า ผงกาแฟบางเม็ดมันแขวนลอยอยู่ในน้ำกาแฟครับถ้าไม่ผ่านกรองที่ดีมากๆก็ไม่มีทางหมด

——-

สรุปว่า หม้อ Moka Pot โนเนม คู่หูผมใบนี้ ทำงานได้ดีจนถึงวันนี้ แม้ผ่านงานมาแล้วตีไปว่ามากกว่า 1200 ครั้ง.ด้วยราคาเท่าที่จำได้คือ 450 บาท ดังนั้นประมาณว่าค่าเสื่อมขอหม้อใบนี้ต่อการต้มครั้งละ 0.37 บาท ถือว่าคุ้มค่าจริงๆครับ ผมขอให้ 9 คะแนน โดยขอหักค่าที่เรื่องเศษของผงกาแฟที่ปนออกมาซึ่งน่าจะเหมือนกันทุกยี่ห้อแหละ

เหมาะสำหรับคนที่ชอบดื่มกาแฟสดมากกว่ากาแฟสำเร็จรูป และชอบแบบเข้มข้น มากกว่า การทำกาแฟแบบถ้วยกรองใช้น้ำหยด อีกทั้ง สามารถพกพาได้ง่ายๆ เข้าป่า เดินทาง เพราะ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องบำรุงรักษามากนัก แค่ล้างๆ แล้วเก็บ ก็เพียงพอครับ

พอมาถึงตรงจุดนี้ ก็นึกได้ว่า แต่ก่อนหาข้อมูล moka pot ตามบล๊อกต่างๆทั้งในและต่างประเทศ พบข้อมูลหลายคนบอกว่า เวลาใส่ ต้องอัดให้แน่น บางคนบอกไม่ต้องอัด บางคนบอก หม้อชนิดนี้ น้ำร้อนไป ควบคุมอุณหภูมิ ยาก  เป็นต้น, เนื่องจากเป็นรีวิวแก้วของผมในฐานะที่ ใช้มา พันกว่าแก้วแล้ว เปลี่ยนผงกาแฟมานับไม่ถ้วน (เพราะไม่ยึดติดยี่ห้อ)
ผมขอสรุปว่า ถ้าคุณไม่ใช่คอทองคำฝังเพชรเรื่องกาแฟแล้วละก็  หากคิดใช้หม้อชนิดนี้ อย่าได้คิดมากครับ,
– เช่นเรื่องอุณหภูมิของน้ำ ผมว่าหม้อไหนๆประเทศไหนๆมันต้มได้อุณหภูมิที่พอกันแหละครับ น้ำเปล่าต่างประเทศ กับน้ำเปล่าของประเทศไทย องศาจุดเดือดที่ 100 องศาคงไม่ค่อยแตกต่างมั๊ง เพราะน้ำที่ถูกดูดไปผสมกาแฟมันใช้น้ำแค่น้ำที่กำลังเดือด ไม่ใช่ไอน้ำที่เกิน 100 องศา

– ผมเรียกว่าเป็น หม้อทำ espresso เพราะผมมีความรู้สึกว่า มันใกล้เคียงมากครับ เพราะใช้แรงดัน แล้วกาแฟที่ได้ก็เข้มข้นใกล้เคียงกับเครื่อง espresso machine เก่าของผม, ดังนั้น ผมคิดว่าผมให้ฉายามันไม่ผิด.
– แต่เรื่อง ชนิดผงกาแฟ และการอัด เนี่ยคือสี่งสำคัญที่สุดครับ, ผงแต่ละยี่ห้อ แต่ละล๊อต ไม่เคยเหมือนกันเลย บางยี่ห้อบางรุ่น มันเคยหอม พอซื้อถุงใหม่กลับเปลี่ยนไปแล้ว, ความละเอียดของผง กับการอัดหรือไม่อัดก็มีส่วนมากครับ. หม้อชนิดนี้ผมแนะนำให้บดแบบละเอียดมากครับ เวลาใส่ไม่ต้องอัด ผลที่ได้จากหม้อผมมันจะดีที่สุดแล้ว.

เมื่อคุณทดลองกับหม้อต้มของคุณ ไปสักระยะ คุณจะคุ้นกับมันไปเองว่าอย่างไหนพอดี อย่างไหนไม่พอดี เติมน้ำเท่าไหร่ น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นดี ผงกาแฟมากแค่ไหน อัดหรือไม่อัด ดี เป็นต้น.

เดี๋ยวในอีกไม่กี่วัน ผมจะได้ใบใหม่มาทดแทนใบนี้ แล้วจะนำมารีวิวให้ชมกันที่นี่ครับ

ขอบคุณมากครับที่ติดตามรับชม

 

[เพิ่มเติม]

ผมมีการทำรีวิวเพิ่มอีกใบเสร็จแล้วนะครับ เป็น moka pot ยี่ห้อ G.A.T. จาก อิตาลี่ ราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นๆจาก italy เหมือนกัน

[เพิ่มเติมอีกนิด]
ผมได้เพิ่มบทความรีวิว Mokapot รุ่นพิเศาอีกใบนึง รวมเป็น 3 ใบ แล้วนะครับ
เชิญชม บทความ รีวิว หม้อต้มกาแฟ ม๊อคค่าพ๊อท

——

 

รีวิวอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

kit
Author: kit

1 thought on “Moka Pot – Stove Top Espresso Maker – ทำกาแฟสด เอสเปรสโซ่ ง่ายๆ ที่บ้านคุณด้วย หม้อม๊อคก้าพ๊อท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *