Hubble Power Strip with dual USB ports – รีวิว รางปลั๊กไฟ สวิตช์แยกสองชั้น พร้อม พอร์ทยูเอสบี คู่แฝด.

หลังจากที่บ้าน เริ่มมีอุปกรณ์ ที่ต้องชาร์จ ไฟเยอะขึ้นเรื่อยๆ  และ ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์พกพาเกือบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ใช้ไฟจาก พอร์ท USB ทั้งนั้น
ปัญหาที่เจอคือ ตัวหม้อแปลง USB ของแต่ละอุปกรณ์ ขนาดรูปร่างมันไม่เหมือนกัน หันไปหันมา ขาเสียบบางอันเป็นคู่ บางอันเป็นสามขา เวลาหาที่เสียบก็จะต้องจัดเรียงตำแหน่งให้ดี ไม่งั้นเสียบบางอันพร้อมกันไม่ได้
อีกทั้ง พอหม้อแปลงมันเริ่มเยอะ เลยต้องจำว่าอันไหนใช้กับอันไหน เนื่องจาก Output Amp มันไม่เท่ากัน ถ้าแอมป์น้อยไปจะชาร์จไม่เข้า แถมบางคนบางเครื่องจำเป็นต้องพก หม้อแปลงไปๆมาๆเช่น ต้องชาร์จตอนกลางคืนในห้องนอน แล้วบางวันต้องชาร์ข้างล่าง หรือ ต้องเอาไปชาร์จที่ทำงาน กลายเป็นว่า หม้อแปลง ยูเอสบี เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องพกติดตัว

วันก่อน เดินผ่านร้านที่ไปซื้อ เมโมรี่การ์ด ให้มือถือตัวใหม่ของที่บ้าน Huawei Ascend Mate ที่รีวิวไปวันก่อน ระหว่างรอชำระเงิน ก็ได้เหลือบไปเห็น รางปลั๊กไฟ โชว์อยู่ตัวหนึ่ง (ไม่ค่อยเห็นยี่ห้อใหนรุ่นใหนมีตัวโชว์มาให้จับดู) เลยไปลองจับเล่นๆ พบว่าวัสดุดูดีและน่าจะมีคุณภาพกว่าที่เคยใช้มา

แล้วก็เกิดฉุกคิดเรื่องปัญหาหม้อแปลง USB ขึ้นมาครับ โดยคิดว่าอาจจะต้องซื้อรางปลั๊กมาเพิ่มอีกตัวจะได้ไม่ต้องรอคิวเวลาต้อง ชาร์จพร้อมๆกัน หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วจึงจัดมาหนึ่งตัวครับ

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 01
หน้าตาครับ ระบุยี่ห้อ Hubble มี 4 ปลั๊ก สายไฟยาว 3 เมตร

เค้ามีให้เลือกหลายแบบครับ 3 ช่อง 4 ช่อง ทั้งแบบมี USB หรือไม่มี

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 02
ซูมให้เห็นจุดเด่นที่เค้าเน้นครับ
– สวิตช์ 2 ชั้น
– USB 2 Ports ขนาด 2.1 Amp (2,100 mAh)
– Surge Protection กันไฟกระชาก
– สายไฟทองแดง 100%

ก่อนไปภาพอื่นๆ ขออธิบาย เรื่องไฟจาก USB Ports ให้เข้าใจตรงกันก่อนครับ, ปกติแล้ว USB ออกแบบมาให้ใช้กับ อุปกรณ์ต่อพ่วงของคอมพิวเตอร์ (Computer peripheral devices) พัฒนาขึ้นเพื่อใช้แทน Ports แบบเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดย USB ถูกออกแบบมาให้มีการส่งกระแสไฟฟ้าออกมาด้วย เพื่อให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อนั้น บางตัวที่จำเป็นต้องมีไฟเลี้ยงจะได้ไม่ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟภายนอกอีก
Port USB มาตรฐานจะมี output 5.0 volt ที่ 500 milli amp (0.5Amp) ซึ่ง เป็นไปตามไฟเลี้ยงภายในคอมพิวเตอร์มาตรฐาน ที่มี 5v – 12v
ส่วนมือถือ อุปกรณ์อื่นๆในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดมักจะใช้แบตเตอรรี่แบบ Lithium ลิเธียม (Li-Ion ลิเธียมไอออน หรือ Li-Po ลิเธียมโพลิเมอร์) ซึ่ง output ที่ประมาณ 3.7 – 4.0 Volt
ผู้ผลิตอุปกรณืจึงคิดได้ว่า Port USB 5v นั้นสามารถนำมาใช้ ชาร์จแบตเตอรรี่ Lithium ได้ แถม port USB ก็มีแพร่หลายในคอมพิวเตอร์อยู่แล้วด้วย จึงเป็นการดีที่ อุปกรณ์จะใช้ spec ของ port นี้ ในการชาร์ และ Sync ไปในตัว
เราจึงเห็นว่า มือถือปัจจุบันจึงไม่มีการแยก พอร์ท ชาร์จ กับ พอร์ท ดาต้า Synchonize แล้ว

ทีนี้ยังมีอีกเรื่องคือ นอกจาก Output แรงดัน 5v ที่เอาไปชาร์จ Lithium ได้แล้วยังไม่พอ ยังต้องมีเรื่อง กระแส แอมป์ ด้วยครับ, เวลาเราเลือd หม้อแปลง ให้เราอ่านที่ตัวหม้อแปลงที่มากับอุปกรณ์ของเราก่อนว่า มัน output กี่ Amp เช่น มือถือรุ่นเล็ก อาจจะ 0.5Amp (500 mAh) หรือ รุ่นใหญ่หน่อย ก็ 1.0 – 1.2 Amp (1000 – 1200 mAh) หรือ ถ้าเป็น Tablet อาจจะถึง 2.0 – 2.1 Amp (2000 – 2100 mAh) กันเลยทีเดียว
ความสำคัญคือ ถ้าเราเอา หม้อแปลง 0.5Amp ไปชาร์จอุปกรณ์ที่ต้องใช้ 2.0Amp นั้นไฟอาจจะไม่เข้า หรือเข้าแต่ช้ามากๆ แต่ถ้าเราเอา หม้อแปลง 2.0Amp ไปเสียบ อุปกรณ์ที่ใช้แค่ 0.5Amp นั้นก็สบายมาก เป็นต้น

เอาหละครับ คงจะเข้าใจความสำคัญของ USB กับ Amp แบบคร่าวๆกันพอสมควรละ เรามาต่อกันครับ
อาศัยว่าผมเป็นคนชอบอ่านคู่มือครับ จะได้ไม่พลาดและจะได้เคลียร์ๆไป ภาพหลายภาพต่อจากนี้จึงเป็นข้อมูลตามกล่องซะเยอะเลยครับ

Hubble Power Strip with dual USB ports - 03
เขียนใต้กล่องว่า Max 2,500 Watts นี่คือรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาเสียบรวมกันไม่เกิน 2,500Watts ครับ ดังนั้น ให้ไปดูที่หลังเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะมาเสียบว่าแต่ละตัวกินไฟกี่ Watts
เช่น กาต้มน้ำ ตัวเดียว ก็ 2,500Watts แล้ว เตารีด 2000Watts จึงไม่ควรเอามาเสียบใช้พร้อมๆกันเพราะกระแสที่วิ่งผ่านรางปลั๊กมันจะเกิน กำหนดได้ อาจจะทำให้ไหม้ได้

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 04
ถ่ายมาให้เป็นข้อมูลครับ สำหรับผู้ผลิต, ผู้นำเข้า และ จัดจำหน่าย

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 06
หลังกล่อง เน้นจุดเด่นไว้ว่ามี Surge Protection (ป้องกันไฟกระชาก) และ มี Overload Protection (ป้องกันไฟเกิน) ไว้ด้วย ไม่ได้ใช้กระบอกฟิวส์ แต่ใช้แบบ เบรคเกอร์ ไม่ต้องแกะเปลี่ยนเวลาฟิวส์ขาด

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 07
เป็น Switch แบบสองชั้น คือมี สวิตช์หลัก และ สวิตช์ประจำแต่ละช่อง ด้วย

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 08
จุดเด่นที่เค้าย้ำอีก คือ สายไฟทองแดง 100% นำไฟฟ้าแบบมีประสิทธิภาพ, วัสดุไม่ลามไฟ, ปลั๊กมีตัวปิดป้องกันเด็กใช้นิ้วจิ้ม, ใช้เป็น เบรคเกอร์ไม่ใช้ฟิวส์, มี ไฟ LED ที่สวิตช์ทุกตัว และ ช่องเสียบแบบ Uniersal เสียบได้ทุกแบบมาตรฐานในโลกนี้

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 09
ที่กล่องด้านในครับ ถ่ายมาอีกเพื่อกันลืมเพราะกล่องอาจจะอยู่กับผมได้ไม่นาน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 10
การรับประกันครับ 3 ปี (เก็บใบเสร็จไว้ด้วย)

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 11
จุดเด่นที่อธิบายเพิ่มอีกคือ เหล็กเต้ารับในปลั๊ก เป็นทองแดงเคลือบนิกเกิ้ล และ ยูเอสบี ที่ปล่อย กระแส ถึง 2,100 มิลลิแอมป์ ต่อช่อง ชาร์จ iPad / Tablet ได้สองตัวพร้อมๆกัน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 12
ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยกตัวอย่างให้ชมครับ จะดูวัตต์จริงให้ดูที่หลังเครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณนะครับ บวกรวมกันแล้วเสียบใช้พร้อมๆกันไม่ควรเกิน 2,500 W

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 14
มาชมด้านหลังกันก่อนเลย ก็เรียบๆไม่มีอะไรพิเศษครับ
สายไฟดูหนาแน่น และไม่อ่อนปวกเปียก (ถ้าอ่อนปวกเปียกแสดงให้เห็นว่าใส้ในสายไฟนั้นเล็กนิดเดียว)

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 15
ระบุ Model Number MU430 ออกแบบใน USA ผลิตใน จีน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 16
หน้าตาแบบเต็มๆ ดูดี เรียบร้อย สวยงาม
หลายคนคงบอก แค่รางปลั๊ก จะให้สวยงามอะไรนักหนา ฮา….
อันนี้เรื่อง นานาจิตตัง ครับ ผมเองยังงัยก็ได้แต่ features+functions ต้องมาก่อน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 18
Master/Main Switch ตัวหลัก ครับ หนาแน่น เปิดปิด นุ่มนวล รู้สึกได้เลยว่า คุณภาพดีกว่า ที่เคยใช้มาในรางปลั๊กตัวอื่นๆที่บ้านครับ

สวิชต์ตัวนี้ ถ้าปิดแล้ว ทุกช่องก็จะโดนปิดไปด้วย ส่วน Ports USB 2 ช่อง ห่างกันประมาณ 1.5 cm พอเพียงต่อการเสียบสองสายพร้อมกัน

มาถึงจุดนี้ คงต้องขอตำหนิเรื่อง ความเนี๊ยบของวัสดุครับ ดูเหมือน โมลแม่แบบปั๊มกรอบหน้ามันไม่ค่อยเนียนเลย เห็นรอยต่อพลาสติกส่วนเกินในส่วนต่างๆชัดไปหน่อย ต้องขอโทษครับที่ถ่ายมาไม่ค่อยจะเห็นกัน ถ้าไปจับตัวจริงก็จะรู้ว่าผมหมายถึงอะไร แต่ก็ไม่มีผลต่อการใช้งานหรอกครับ แค่เรื่องของความเนียน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 17
รางปลั๊ก ตัวนี้มาแปลกนิดนึงคือ ออกแบบมาให้สวิตช์อยู่ด้านข้าง แทนที่จะอยู่ด้านบน ซึ่งผมว่ามันก็ดีครับ เพราะบางทีหม้อแปลงมันใหญ่ บางตัวก็บังสวิตช์ที่อยู่ด้านบนกด เปิดปิด ไม่สะดวก
แต่รางตัวนี้ไม่มีปัญหาเลย ตัวสวิตช์ก็เป็นชนิดเดียวกับตัวเมนสวิตช์หลัก

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 19
ด้านบนเป็นเบรคเกอร์ครับ เมื่อเกิดไฟเกิน เบรคเกอร์จะตัด ก็แค่ กดปุ่มมันก็จะ reset
สะดวกกว่า เพราะถ้าเป็น แบบฟิวส์ ไฟเกินไฟกระชาก ฟิวส์ขาด ก็ต้องไปหาซื้อมาเปลี่ยน

 

Hubble Power Strip with dual USB ports - 20
สายไฟมาแบบปลั๊ก 3 หัวครับ ก่อนซื้อควรนึกถึงเต้าไฟที่ผนังบ้านด้วยว่าเสียบได้ไหม บางบ้านไม่มีกราวด์คงต้องซื้อหัวแปรง หรือไม่ก็ตัดแกนกลมทิ้งไปเลย

Hubble Power Strip with dual USB ports - 21
ชะแว๊บ ไฟสว่างดีครับ ฮา ไม่รู้จะโม้อะไรกับภาพนี้ดี

Hubble Power Strip with dual USB ports - 22
ก่อนจ่ายเงินรับของ ให้พนักงาน ทดสอบให้ดูด้วยนะครับ โดยเฉพาะ สวิตช์ไฟต่างๆและพอร์ท USB ยิ่งถ้าเอามือถือ แทปเล็ต แฟบเบล็ต ของตัวเองที่ตั้งใจจะใช้ไปเสียบดูยิ่งดีใหญ่ จะได้มั่นใจว่าใช้ได้จริง

Hubble Power Strip with dual USB ports - 23
ผมว่ามุมนี้สวยครับ ดูดีมีชาติตระกูล
ช่องเสียบแต่ละช่องแข็งแรงชัดเจนมากๆครับ แรกๆจะเสียบเหมือนมันติดๆแต่จริงๆแล้วเหล็กช่องรับมันแข็งๆเนื่องจากยังใหม่ ครับ โดยเฉพาะปลั๊กแบบสามขา ซึ่งตอนแรกๆผมกดมันไม่ยอมลง ลองพลิกแพลงหลายกระบวนท่าอย่างนิ่มนวลมันก็ไม่ยอมลง สุดท้ายเล็งๆตรวจดูว่าขารับมันก็ตรงๆทุกๆรูไม่ติดขัดแน่ๆ ทีนี้เลยยัดอย่างแรงๆครับเข้าเป้าสนิทเรียบร้อยแน่นหนา เลยเข้าใจว่า ต้องใช้แรงมากสักนิดหน่อย ครั้งต่อๆไปเลยง่ายละว่าจะใช้แรงเท่าไหร่ดี

—-
สรุปครับ

โดยปกติแล้ว ความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องรางปลั๊กนั้น ดีที่สุดในใจผมคือ รางที่ใช้เต้ารับแบบเดียวกับเต้าเสียบผนังบ้าน เพราะตัวเหล็กรับจะแข็งแรงมาก แต่น่าเสียดายที่ รางชนิดใช้เต้ารับของบ้านนั้นไม่ค่อยมีคนทำ จริงๆแล้วที่บ้านมีใช้อยู่ยี่ห้อหนึ่งแบบใช้ เต้ารับบ้าน มาทำ (ต้องขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายภาพมา ยี่ห้อ Haco ลองไปหาดูได้ตามห้าง) ผมถือว่าตัวนั้นดีที่สุดในตอนนี้แล้ว แต่ปัญหาคือมันเป็นแค่สวิช์แบบรวมไม่มีแยกจึงเอาไปใช้ในตำแหน่งที่ต้องเสียบ ใช้ไฟตลอดเวลา ไม่เหมาะกับการเสียบทิ้งไว้แต่ไม่ได้ใช้บางช่อง

ในเบื้องต้น เป็นรางปลั๊ก Hubble ตัวนี้ ที่ถือว่า มีคุณภาพดี ตั้งใจออกแบบมาดี โดยเฉพาะ ออกแบบให้ สวิตช์มาอยู่ด้านข้างแทนที่จะอยู่ด้านบน ซึ่งวจะได้ไม่ติดปัญหา หัวปลั๊ก หรือหม้อแปลงที่จะมาเสียบ บดบังสวิตช์ให้เปิด/ปิดลำบาก
วัสดุคุณภาพดี รูปแบบสวยงาม แต่มีเรื่องของความเรียบร้อยของแม่แบบเล็กน้อย, เน้นเรื่องสายไฟ เป็น ทองแดง 100% นำไฟอย่างมีประสิทธิภาพ และจากที่ผมสังเกตุเหล็กในช่องเต้ารับนั้นแข็งแรง เสียบเข้าออกบ่อยๆมันคงไม่หลวมง่ายๆแน่นอน

ที่สำคัญมาพร้อม ช่อง USB ขนาด กระแสมากถึง 2,100 milliamp (2.1Amp) ต่อช่อง ซึ่งถือว่ารองรับได้กับอุปกรณ์เล็กใหญ่เกือบทั้งหมด ในปัจจุบัน, ช่วยลดเรื่องปัญหาการพกพาหม้อแปลง หรือจำนวนหม้อแปลงลงไปได้เยอะครับ
ตัวสวิตช์ และช่องเต้ารับ ใช้วัสดุที่มีคุณภาพค่อนข้างดี

แต่ผมก็ยังขอแนะนำว่า ถ้าไม่จำเป็น อย่างไรเสีย ควรใช้  หม้อแปลง USB ที่ติดมากับเครื่องเป็นหลักจะดีที่สุด ครับ

รางปลั๊กแบบสวิตช์แยกนี้ หลายคนคงมีประสพการณ์เช่นเดียวกันว่า สวิตช์จะเสียก่อน เช่น กดไม่ลง ไฟไม่ติด หรือแม้กระทั้งปุ่มหลุดเป็นต้น, ผ่านมาหลายยี่ห้อครับ ทั้งราคาถูกๆ (ต่ำกว่า 200) ราคาแพงกลางๆ (200-350) ทั้งมีไฟในปุ่ม ไฟแยกจากปุ่ม หรือไม่มีไฟ ก็ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาหมดเลย ใช้สักพักสวิตช์หลุด แตก หรือดับไป ผมหวังว่า ตัวนี้คงจะมีคุณภาพกว่าที่เคยพบๆมาครับ ถ้าใครผ่านไปพบไปทดลองจับแล้วคุณจะรู้สึกได้เลยว่าสวิตช์ของตัวนี้มัน แตกต่างจริงๆครับ

เรื่องราคา ก็คงต้องมาดูรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพวัสดุครับ มีหลายแบบตามห้างค้าปลีก ขาย 1 แถม 1 หรือ บางอัน 99 บาท อันนั้นก็เป็นอีกตลาดกลุ่มนึง ส่วน Hubble นี้คงเน้นตลาดกลาง ขึ้นไป

ขอจบการรีวิวในวันนี้ครับผม โดยขอให้คะแนน 8/10 ไว้ก่อนครับ เนื่องจากราคาระดับบน จึงต้องรอพิสูจน์ คุณภาพหลังจากใช้งานจริงสักระยะครับ
—-

รีวิวอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

อีโวโพลิส
Author: อีโวโพลิส

3 thoughts on “Hubble Power Strip with dual USB ports – รีวิว รางปลั๊กไฟ สวิตช์แยกสองชั้น พร้อม พอร์ทยูเอสบี คู่แฝด.

  1. เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับรีวิวครับ มีปัญหามาหลายครั้งแล้ว กับสวิตเปิดปิด เจ้งก่อนอย่างอื่นเลย จนรำคาญต้องเปลี่ยนมาหลายอันละ ยี่ห้อดังสุดในท้องตลาดด้วย … อันนี้เท่าที่ลองใช้ สวิตดูมีคุณภาพกว่าจริงๆครับ …อีกอย่าง วัสดุที่เอามาทำนั้นจับดูก็รู้เลยว่าใช้วัสดุคุณภาพดีกว่าด้วย สรุปโดยรวมน่าใช้ครับ แนะนำเลย

    1. ตำแหน่งที่ผมใช้ ผมใช้กับปลั๊กผนังแบบนี้ครับ (ขอยืมภาพจากในเน็ต)

      บ้านผมเก่าแล้ว ปลั๊กหลายๆจุดเป็นเพียง 2 ขั้วไม่มี ground ผมก็จะใช้ตัวแปลงครับ

ส่งความเห็นที่ suradit khamsuwan ยกเลิกการตอบ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *